สำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม
สำหรับผู้ที่รักสุขภาพหลายท่านให้ความสนใจในการที่จะลดการบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าเราบริโภคน้ำตาลจากไหน หรือบริโภคโดยที่เราไม่รู้ตัว การลดการบริโภคน้ำตาลก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้
ส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือเราไม่ได้บริโภคน้ำเปล่าแต่เพียงอย่างเดียว หลายท่านยังเข้าไปห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ แล้วไปซื้อเครื่องดื่มบางชนิดมาดื่มเพื่อดับการกระหาย โดยที่เราอาจไม่เคยสังเกตปริมาณน้ำตาลที่ระบุในฉลากนั้นเสียด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าน้ำตาลมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย), น้ำตาลฟรุ๊คโตส (จากผลไม้), น้ำตาลแลคโตส (จากนม), น้ำผึ้ง, เมเปิ้ลไซรัป ฯลฯ ไม่ว่ามันจะเป็นน้ำตาลอะไร หากบริโภคมากเกินไปย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน
แม้แต่น้ำตาลเทียม หรือสารแทนน้ำตาล ที่เป็นเคมีก็อย่าประมาทว่าไม่มีผลเสีย เพราะในความเป็นจริงแล้ว สารแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลเทียมนั้นหากบริโภคมากก็อาจทำให้เป็นเบาหวานได้ด้วย เพราะตับอ่อนอาจหลั่งอินซูลินออกมาจนขาดน้ำตาล หรือน้ำตาลตก จนทำให้ต้องไปหาอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานได้เช่นกัน
หลายคนที่มีความใส่ใจด้านสุขภาพอาจจะคิดว่าหากเราไม่บริโภคน้ำหวาน หรือน้ำอัดลม ที่เราต่างรับรู้ได้ว่ามันหวานมากนั้นอาจจะปลอดภัยจากการบริโภคน้ำตาลเกิน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราอาจจะคิดว่าดีต่อสุขภาพ แต่หากมีน้ำตาลมากก็อาจจะก่อผลเสียได้หากบริโภคมากเกินไป เช่น นมเปรี้ยวใส่น้ำตาล นมรสหวาน น้ำผลไม้หวาน ชาเขียวใส่น้ำตาล น้ำอัดลมสีใส ก็อาจจมีน้ำตาลมากและไม่ควรจะบริโภคหมดทั้งขวดก็ได้
ความจริงแล้วคนไทยส่วนใหญ่ ไม่นิยมอ่านฉลากของผลิตภัณฑ์ แม้หลายคนอาจจะตั้งใจอ่าน ก็อาจจะอ่านแบบไม่เข้าใจ บางคนก็ไม่สามารถอ่านได้เพราะใช้ตัวอักษรเล็กจนเกินไป ทำให้หลายท่านไม่ทราบปริมาณน้ำตาลในแต่ละผลิตภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มบางชนิดอาจมีขนาดเล็ก แต่อาจมีน้ำตาลในสัดส่วนปริมาณค่อนข้างมาก จึงไม่ควรดื่มเกิน 2 ขวด แต่บรรจุภัณฑ์บางชนิดที่มีขนาดใหญ่แม้มีสัดส่วนของน้ำตาลไม่มาก แต่ถ้าดื่มจนหมดบรรจุภัณฑ์หรือหมดขวดนั้นน้ำตาลก็อาจมากเกินไปได้เช่นกัน
บทความนี้จึงขอนำเสนอ ตัวอย่าง ปริมาณตามที่ระบุในฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ 22 ชนิด ว่ามี "น้ำตาล" ในปริมาณสูงในลำดับต้นๆ จำเป็นต้องรับรู้และตระหนักในการบริโภคด้วย เพื่อเตือนให้คนไทยได้ตระหนักว่าสิ่งที่เราคิดอาจไม่ใช่ความจริง ตราบใดที่ยังไม่อ่านฉลากของผลิตภัณฑ์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีรสเปรี้ยวผสมนั้นอาจมีน้ำตาลอยู่ในระดับสูงกว่าเครื่องดื่มอื่นๆก็ได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น