คาเฟอีนในกาแฟ

คาเฟอีนในกาแฟ ผลกระทบต่อร่างกายของนักดื่มที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

อาหารทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ให้คุณประโยชน์กับเรามากที่สุดก็สามารถสร้างปัญหาต่อสุขภาพได้หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ในขณะเดียวกันอาหารที่ให้โทษบางอย่าง หากรับประทานในปริมาณเพียงน้อยนิดกลับมีประโยชน์อย่างมหาศาลได้
“กาแฟ” เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เครื่องดื่มชนิดอื่นในโลก เรียกได้ว่าจะเดินทางไปแห่งหนตำบลใด สิ่งที่เราจะได้สัมผัสคือรสชาติหอมกรุ่นของกาแฟอยู่รอบข้าง ร้านกาแฟมากมายตั้งเรียงรายให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศและรสชาติที่แตกต่างกัน ความอร่อยที่ลงตัวบวกรวมกับความสดชื่นที่กาแฟมอบให้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้มันเป็นเครื่องดื่มเพื่อสร้างความตื่นตัวในทุกๆ เช้าก่อนการเริ่มงาน หรือจะเพื่อความกระปรี้กระเปร่าในแต่ละวันไม่ให้รู้สึกกับความง่วงเหงาหาวนอน

ผลลัพธ์ที่ได้จากการดื่มกาแฟที่กล่าวไปข้างต้น มีผลเข้าไปกระตุ้นการทำงานของสมองให้ตื่นตัว เนื่องจากในกาแฟมีสารที่เรียกว่า “คาเฟอีน” อยู่มาก ยิ่งเป็นกาแฟแบบเข้มข้นยิ่งทำให้สารนี้มีมาก เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำให้ระดับการเต้นของหัวใจและความดันสูงขึ้น กดระบบประสาทให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะหมดฤทธิ์

เจาะลึกกับคาเฟอีน สารพิเศษที่มีอยู่ในเมล็ดกาแฟ

คาเฟอีนดูเหมือนจะเป็นสารที่เรารู้จักกันมากที่สุดในเมล็ดกาแฟ และเราเลือกที่จะดื่มกาแฟไม่เพียงแค่รสชาติและความหอมเท่านั้น ทว่าเรายังเลือกที่จะดื่มเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ร่างกายได้มีประสิทธิภาพในการทำงานแบบเต็มที่ สำหรับคาเฟอีนถูกจัดอยู่ในสารประเภท Xanthines คุณสมบัติของมันคือการเข้าไปทำหน้าที่ขยายหลอดลม กระตุ้นการทำงานของสมอง และช่วยกระตุ้นให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมามาก

เมื่อเราจำแนกเอาคาเฟอีนออกมาจากกาแฟ ลักษณะของมันจะเป็นผง มีสีขาวบริสุทธิ์ รสชาติขม สามารถละลายได้ในน้ำ ในกาแฟ 1 แก้วจะมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 0.15 กรัม เมื่อดื่มเข้าไปแล้วมันจะถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดโดยการดูดซึมผ่านอวัยวะที่เกี่ยวของกับทางเดินอาหารทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของลำไส้เล็กจะทำให้คาเฟอีนสามารถถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดี

การดูดซึมจะมีความแตกต่างกันออกไป กรณีที่เราดื่มกาแฟในช่วงที่ร่างกายไม่มีอาหารหรือท้องว่าง สารชนิดนี้จะถูกดูดซึมในได้ภายในระยะเวลา 30 นาทีหลังการดื่ม แต่หากดื่มภายหลังรับประทานอาหาร อาจจะใช้เวลาราวๆ 60 นาที จากนั้นมันจะเข้าไปมีผลต่อตับ หัวใจ สมองและไต โดยจะพบได้มากที่ตับ เนื่องจากเป็นตัวกรองคาเฟอีนและส่งผ่านไปยังท่อปัสสาวะเพื่อกำจัดออก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-6 ชั่วโมงในการคงอยู่ในร่างกาย จากนั้นจะเริ่มสลายออกไปอย่างช้าๆ เมื่อเราปัสสาวะ ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปคาเฟอีนจะไม่มีการสะสมในร่างกาย ต่างจากผู้ป่วยบางกลุ่ม อาทิเช่น ผู้ป่วยโรคตับ คนที่รับประทานยาบางชนิด ส่งผลให้ตับทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตามมาด้วยการสะสมของคาเฟอีนในร่างกาย กลายเป็นผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการมึนงง มือสั่นและรู้สึกกระวนกระวายใจได้

ผลกระทบของคาเฟอีนที่สามารถส่งผลต่อสมอง

เนื่องจากคาเฟอีนส่งผลกระทบต่อสมองโดยตรง ดังนั้นเมื่อดื่มกาแฟเข้าไป สารชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้สมองตื่นตัวอย่างรวดเร็ว กระปรี้กระเปร่าและหายง่วงนอน และมันจะมีผลก็ต่อเมื่อสมองได้รับคาเฟอีนประมาณ 40 มิลลิกรัมขึ้นไป ซึ่งนอกจากกาแฟแล้ว ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังหลายยี่ห้อมีการผสมคาเฟอีนลงไปเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสามารถทำงานได้ เปรียบเสมือนดาบสองคมที่เข้าไปฝืนการทำงานของร่างกายแม้ในกรณีที่รู้สึกเหนื่อยล้าและอยากพักผ่อน

ทว่ามันกลับไปกระตุ้นให้ร่างกายกลับมามีพลังในการทำงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพความพร้อม นั่นหมายถึงการทำงานที่จะทำให้เกิดอาการเหน็ดเหนื่อยอย่างหนักตามมาเมื่อหมดฤทธิ์ หรือบางรายที่คาเฟอีนยังคงอยู่ จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น กระวนกระวาย มือสั่น รู้สึกเพลีย แม้จะรู้สึกง่วงนอนแต่ก็ไม่สามารถนอนหลับได้สนิท ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่ามันเข้าไปควบคุมการทำงานของสมอง ทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น


ผลกระทบของคาเฟอีนต่อเซลล์กระดูก

เราอาจจะคุ้นชินจากคำบอกเล่าต่างๆ ทั้งจากทางสื่อและทางการวิจัยหลายอย่างในอดีตว่าคาเฟอีนมีส่วนทำให้กระดูกเปราะบางได้ง่าย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนอันเนื่องมาจากการขับคาเฟอีนออกจากร่างกายทางปัสสาวะเป็นเหตุแคลเซียมในกระดูกถูกกำจัดออกไปด้วย ทว่าในความเป็นจริงปริมาณคาเฟอีนที่พบในกาแฟไม่ได้มีผลอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผู้ที่สูญเสียแคลเซียมและมีปัญหากระดูกเมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่มากจากการรับแคลเซียมไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัจจัยของการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ด้วย


คาเฟอีน…หรือสารเสพติด?

แม้ว่าบางคนจะต้องดื่มกาแฟในทุกๆ เช้าเพื่อให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นจากการได้รับคาเฟอีน หากวันไหนที่ไม่ดื่มจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ไม่กระตือรือร้น รู้สึกไร้ชีวิตชีวาและไม่มีพลังในการทำงาน อย่างไรก็ตามคาเฟอีนก็ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นยาเสพติด แต่ด้วยพฤติกรรมของนักดื่มเองมากกว่าที่ทำให้เกิดอาการติดกาแฟ เช่นเดียวกับการกินยานอนหลับ เมื่อไหร่ที่นอนไม่หลับเราก็จะนึกถึงตัวช่วยที่ใกล้ตัวและให้ชัดเจน เช่นเดียวกันเมื่อต้องการกระปรี้กระเปร่า คาเฟอีนคือ ตัวช่วยที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น


การได้รับคาเฟอีนเกินขนาดกับผลกระทบต่อร่างกาย

สำหรับผู้ที่แพ้คาเฟอีนและไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีสารชนิดนี้อยู่ได้ เมื่อรับเข้าไปแล้วจะทำให้รู้สึกใจสั่น กระวนกระวาย ปวดศีรษะ เกิดภาวะตึงเครียด รู้สึกทรมาน นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ อยากอาเจียน ซึ่งบางรายหากมีอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มือและเท้าเย็น ซึ่งเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดการเสียชีวิตได้สูงหากได้รับเกิน 5000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนใครที่ไม่ได้มีภาวะแพ้คาเฟอีน แต่การได้รับมากเกิน 200 มิลลิกรัม อาจจะส่งผลข้างเคียงจากภาวะข้างต้นได้ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตามคาเฟอีนมีทั้งโทษละประโยชน์อยู่ในตัวเดียวกัน การดื่มในปริมาณที่พอดีไม่มากจนเกินไป เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับการกระตุ้น พร้อมสำหรับการทำงานในแต่ละวัน แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเพื่อการหักโหมทำงานอย่างหนัก และควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อจะได้ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพตามมา

ความคิดเห็น